โครงการ สานรักสานใจสามวัยในครอบครัว

5 สิงหาคม 2559
 ประเภท : ข่าวย้อนหลัง
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

ครอบครัวในปัจจุบันเผชิญกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในครอบครัวและปัจจัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม  การแพร่ระบาดของยาเสพติดพบมากในกลุ่มวัยรุ่นทั้งหญิงชาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเป็นปัจจุบัน บิดา  มารดาอย่าร้าง เด็กขาดความอบอุ่น ได้รับการเลี้ยงดูแบบอิสระปล่อย  ตามสบาย ทำให้ขาดที่พึ่ง หรือขาดชี้แนะให้คำปรึกษา ทำให้ขาดการควบคุมตนเองลูกที่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้กลายเป็นเด็กกำพร้าไร้ที่พึ่ง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวของฝ่ายชาย การใช้อำนาจหรืออารมณ์ในการตัดปัญหาและมีพฤติกรรมมัวเมาสิ่งเสพติด ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเสื่อมถอยลง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาครอบครัว และสภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่ชักจูงในทางไม่ดี มีความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงในสังคม

ความรุนแรงเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานทางใจให้กับสตรีและเด็ก ตลอดจนเป็นปัญหาที่สร้างความสูญเสียและผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพเด็ก และสตรี ส่งผลให้ครอบครัวต้องแบกรับภาระที่ยาวนาน ทั้งการดำเนินคดี การรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟูทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ซึ่งความรุนแรง    ต่อเด็กและสตรี ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายเพียงเท่านั้น ยังมีรูปแบบการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ เช่น การด่าทอ     ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ทอดทิ้ง หรือการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ข่มขู่ การนอกใจ การบังคับให้ค้าประเวณี การเพิกเฉยไม่สนใจไยดี      เป็นต้น

จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2554 พบว่า มีจำนวนถึง 22,565 รายที่มาเข้ารับบริการ หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือกล่าวได้ว่า ในทุกชั่วโมงมีเด็กและสตรี      ถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย โดยเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรง     ทางร่างกายและจิตใจ ขณะที่สตรีถูกกระทำความรุนแรงด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมา คือ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและจิตใจ สำหรับผู้กระทำความรุนแรงในเด็กมากที่สุด คือ แฟน เพื่อน และคนในครอบครัว ขณะที่ผู้กระทำความรุนแรงในสตรีมากที่สุด ได้แก่ สามี แฟน และคนในครอบครัว ส่วนสาเหตุของการกระทำความรุนแรงในเด็ก อันดับ 1 ได้แก่ สภาพแวดล้อม อาทิ สื่อลามกต่างๆ หรือความใกล้ชิด รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น อาทิ การดื่มสุรา ใช้สารเสพติดอื่นๆ และสัมพันธภาพในครอบครัว ขณะที่สาเหตุการกระทำความรุนแรงในสตรีอันดับ 1 ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว อาทิ การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น และสภาพแวดล้อม

ผล กระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมีทั้งทางกายและทางใจ ยิ่งถูกกระทำความรุนแรงมากก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งในผู้หญิงนั้นบาดแผลภายในจิตใจถือว่าไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ ส่งผลต่ออารมณ์ บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวน ขณะที่บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลัวสังคมไม่ยอมรับ อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา แม้เหตุการณ์สิ้นสุดมาเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้เด็ก ที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะเกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ต่างกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศ โดยตรง โดยในเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง เนื่องจากเด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง และจะเข้าใจผิดว่า ปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง รวมทั้งการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวของตนเอง

จาก ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในครอบครัว        ซึ่งแนวทางป้องกันหรือลดความรุนแรงที่สามารถทำได้ คือ ต้องเริ่มจากครอบครัวและตัวเราก่อนซึ่งพื้นฐานที่ดี               ของครอบครัวถือเป็นการ แก้ปัญหาระยะยาว โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว มีการสื่อสารทางบวก ยอมรับบทบาทของกันและกัน เคารพและให้เกียรติ ให้ความรัก เอาใจใส่ ไม่นอกใจกัน ควบคุมอารมณ์ ให้อภัยซึ่งกันและกัน หันหน้าหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนและหาข้อยุติของปัญหา รวมทั้งอบรม เลี้ยงดูและปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม ทั้งลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายให้มีความเสมอภาคชายหญิงเท่าเทียมกัน สอนให้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช้อำนาจ ไม่เอาเปรียบ สอนทักษะระงับความโกรธ หรือเมื่อจะลงโทษลูกควรเลือกใช้วิธีอื่นแทนการเฆี่ยนตี เช่น ให้ทำงานบ้านชดเชย ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน ยึดหลักศาสนา พัฒนาจิตตัวเอง เห็นถึงบทบาทที่ดี    ของหญิงชาย เป็นตัวอย่างของการลด ละ เลิกอบายมุขทั้งปวง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และการพนัน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ส่วนในระดับสังคม ควรยอมรับในความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาด้วยการทำร้ายอีกฝ่าย

  องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวให้มีความอบอุ่น มีความเอื้อเฟื้อและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเน้นขบวนการป้องกันตัวเอง ในการรู้เท่าทันปัญหาเด็กผู้หญิง        เป็นการปลูกฝังค่านิยมการรักและดูแลตัวเอง ให้เด็กสามารถเข้าใจและจัดการปัญหาของตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งครอบครัวสามารถเข้าใจและสื่อสารทางบวกกับวัยรุ่นได้ มีความต้องการจะดำเนินโครงการนี้เพื่อขยายผลต่อยอดในปีต่อๆไป เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างคลอบคลุมและทั่งถึง จึงได้จัดทำโครงการ สานรักสานใจสามวัยในครอบครัว  ขึ้น

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!