โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 2559
19 มีนาคม 2559ประเภท : ข่าวย้อนหลัง
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ แต่วัยรุ่นจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงข้อมูลและบริการด้านเพศ ทำให้วัยรุ่นขาดความรู้และทักษะการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงไม่ได้รับการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างต่อเนื่องขาดความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีไม่สามารถควบคุมอารมณ์ หรือตนเองเมื่ออยู่กับเพศตรงข้ามถูกกระตุ้นอารมณ์เพศจากสื่อทางลบ และใช้สารเสพติด รวมทั้งการเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมต่อพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นที่สถานการณ์และแนวโน้มนี้ น่าเป็นห่วง กล่าวคือ อายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ของวัยรุ่นลดลงจาก 18 - 19 ปี เป็นประมาณ 15-16 ปี ผลกระทบประการสำคัญที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง ทางเพศของวัยรุ่น นอกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ คือการตั้งครรภ์ วัยรุ่นจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่มีอายุเกิน 20 ปี เช่น ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนดสูง เจ็บครรภ์คลอดนาน การคลอดโดยใช้อุปกรณ์ช่วยคลอด เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอดภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม และทารกตายในครรภ์ อัตราการตายของมารดาอายุ 15-19 ปีสูงกว่ามารดาที่มีอายุ 20-24 ปี ถึง 3 เท่าและวัยรุ่นยังไม่พร้อมด้านจิตใจสำหรับการเป็นแม่ นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังก่อให้เกิดปัญหา ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วยคือ การต้องหยุดหรือออกจากการศึกษาไม่มีงานทำ ค่ารักษาพยาบาล ขณะตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และการเลี้ยงดูบุตร ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งแม่วัยรุ่นและบุตรที่เกิดมา ประเทศไทยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นภาวะวิกฤติหนึ่งที่มีผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ทั้งกาย จิตใจ การศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งต่อตัววัยรุ่นเอง ครอบครัว และสังคมไทยในภาพรวม ดังนั้น ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขโดย ทุกภาคส่วน ที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการ เจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) ที่เน้นการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ในกลุ่มประชากรวัยรุ่นและเยาวชนก่อนซึ่งจะส่งผลต่อการลดการตั้งครรภ์ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ในประชากรวัยนี้ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการดำเนินงานแบบบูรณาการในบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล