โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว

6 พฤษภาคม 2565
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง โดยผู้ป่วยที่สัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ จะได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในตระกูล Rhabdoviridae ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่กัด ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ประสาทหลอน อัมพาต โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
 

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากอะไร?

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค ผ่านการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผลหรือบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยถลอก ถูกสัตว์เลียบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก หรือรับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆที่มีเชื้อ นอกจากนี้การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) ก็อาจเป็นสาเหตุให้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน
 

สัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้า

สัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้าได้แก่ สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก แรคคูน และสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิด โดยสุนัขจรจัดมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสู่คนได้มากที่สุด

 

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของบาดแผล โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (Richly innervated  area) โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น ระยะดังนี้

  1. ระยะแรกเริ่ม (Prodromal phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่ม จะมีอาการไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ระคายเคืองบริเวณที่ถูกสัตว์กัดเป็นอย่างมาก มีอาการเจ็บแปลบคล้ายหนามทิ่มตำ โดยระยะนี้ อาจกินระยะเวลาเฉลี่ย 2-10 วัน
  2. ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท (Acute neurologic phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะมีอาการแบ่งได้ 2 ประเภท
    • ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis)ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ กลัวลม กลัวน้ำ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ
    • ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก (Flaccid paralysis) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  3. ระยะโคม่า หรือ ระยะสุดท้าย (Coma)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์


หากถูกสุนัขกัด หรือ สัตว์กัด ควรทำอย่างไร?

หากถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรปฎิบัติตน ดังนี้

  1. ล้างบาดแผลทุกแผลด้วยน้ำ และฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง ให้สะอาดลึกถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น กลุ่มยาโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine)
  2. หากสัตว์ที่กัดมีเจ้าของ ให้สอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคอยสังเกตอาการของสัตว์ที่กัดอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
  3. รีบพบแพทย์ให้เร็วเพื่อรับการป้องกัน และรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์พิจารณาทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มยา Post-exposure prophylaxis/PEP รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาปฎิชีวนะ โดยหากสัตว์ที่กัดมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulins) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?

กระทรวงสาธารณสุข และ สภากาชาดไทยแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่จำนวน 1-5 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าเคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ โดยมีวิธีการฉีด แบบ ดังนี้

  1. การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง (Intradermal: ID)
  2. การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular: IM)

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจัดว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถฉีดได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งเด็ก และสตรีมีครรภ์ หากผู้ที่ถูกสัตว์กัดได้รับวัคซีนเข็มแรกหลังจากที่ถูกสัตว์กัดโดยเร็ว และมาฉีดวัคซีนจนครบจำนวนตามเข็มที่แพทย์สั่ง ก็จะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
 

เราจะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย และให้อยู่ห่างจากสัตว์ป่า เพื่อลดความเสี่ยง ในการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อปฎิบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องการโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามจำนวนเข็มที่สัตวแพทย์กำหนดและฉีดซ้ำทุกปี
  • จัดที่อยู่อาศัยที่เป็นกิจลักษณะให้สัตว์เลี้ยง ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในกรง หรือในบ้านเวลากลางคืน ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ
  • ไม่สัมผัสสัตว์ป่า หรือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือสัตว์จรจัด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะถูกกัด
  • หากพบสัตว์จรจัด ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบทันที
  • แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสวนสัตว์ ผู้ที่ทำงานในห้องทดลองที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคและผู้ที่ชื่นชอบการตั้งแคมป์ เดินป่า ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงทีมักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นหากมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนและหรือยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!